ประวัติความเป็นมาของพิณ

    พิณเป็นเครื่องดนตรีในสกุลเครื่องสายซึ่งประกอบด้วย กะโหลกและคอ มีสายขึงใช้ดีด อาจดีดด้วยมือแผ่นพลาสติกหรือแม้แต่เศษวัสดุที่เป็นแผ่นถากออกมาจากเขาสัตว์หรือกระดองเต่า (Midgley.1978:167-179)  มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตตะ หมายถึง เครื่องดนตรีที่มีสายสำหรับดีดเป็นเสียงสันนิษฐานว่า ตตะนี้คงจะได้แบบอย่างมาจากที่ใช้สายขึ้นคันธนู เกิดการสั่นสะเทือน แต่สายธนูที่ทำหน้าที่เป็นตัวสั่นสะเทือนนั้นจะแตกต่างกันไปตามความยาว สั้นของคันธนู มีเสียงดังไม่มากนัก หาวัตถุที่ช่วยให้การเปล่งเสียงมากขึ้น จึงใช้วัตถุที่กลวงโดยเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเช่น ผลน้ำเต้า กะโหลกมะพร้าว กระบอกไม้ไผ่หรือไม้ที่ขุดทะลุทะลวงตลอด จึงเรียกส่วนนี้ว่า วีณโปกขร หรือกระพุ้งพิณ(Resonator)(อุดม อรุณรัตน์. 2526:91) 

     พิณของชนเผ่าสุเมเรียน ที่เรียกว่า ไลร์ มีมาแล้วก่อนคริสตศักราชถึง 3,000 ปี และใช้กันอย่างกว้างขวางในกลุ่มชนอียิปต์โบราณ กรีกโบราณและยุโรปสมัยกลาง ในแอฟริกา มันถูกใช้เล่นประกอบในพิธีกรรมบางอย่าง (Lsaacs and Martin.1982:225-226) ในลัทธิของศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อมั่นว่าการบูชาด้วยเสียงดนตรีที่มีสายติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นวิถีอันที่จะบรรลุถึงซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระศิวะได้(เดอบาร์รี 2512:513)

    ในทางพุทธศาสนานั้น วิถีพระโพธิญาณ ของสมเด็จพระมหาสัตว์ก็ได้อาศัยสายกลางแห่งพิณที่สมเด็จพระอัมรินทราธิราชทรงดีดถวายถึงได้ตรัสรู้สำเร็จสมโพธิญาณว่า การบำเพ็ญเพียรแสวงหาโมกษธรรมนั้น ถ้าเคร่งครัดนักก็เปรียบเสมือนการขึ้นสายพิณให้ตึงเกินไปดีดแล้วย่อมขาดถ้าหย่อนยานนักย่อมไม่มีเสียงไพเราะเหมือนขึ้นสายพิณหย่อน แต่ถ้าทำอยู่ในขั้นมัชฌิมาปานกลาง ก็เปรียบเสมือนการขึ้นสายแต่เพียงพอดีกับระดับเสียงย่อมจะให้เสียงดังกังวานไพเราะแจ่มใส ดังใจความในวรรณคดีเรื่อง พระปฐมสมโพธิถากลางถึงพิณไว้ในตอนทุกกิริยาปริวรรต ปริจเฉทที่ 8 ว่า

     ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชทราบในข้อปริวิตก ดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณทิพย์ สามสายลงมาดีดถวายพระมหาสัตว์ สายหนึ่งเคร่งนัก พอดีดก็ขาดออกไป  สายหนึ่งหย่อนนักดีดเข้าก็ไม่บันลือเสียงและสายหนึ่งนั้นไม่เคร่งไม่หย่อนเป็นปานกลางดีดเข้าก็บรรลือศัพท์ ไพเราะเจริญจิต พระมหาสัตว์ได้สดับเสียงพิณก็ถือเอานิมิตอันนั้นทรงพิจารณาแจ้งว่า มัชฌิมปฏิบัตินั้นเป็นหนทางพระโพธิญาณ

     วรรณคดีเรื่องสักกปัญหสูตร ได้กล่าวถึงพิณที่พระปัญจสังขรดีดไว้ในสักกปัญหสูตรทีฆนิกายมหาวรรค (อุดม อรุณรัตน์.2526 :93-96) ไว้ว่า พิณมีสีเหลืองเหมือนผลมะตูมสุก กระพุ้งพิณนั้นแล้วด้วยทองทิพย์  คัณพิณแล้วด้วยแก้วอินทนิล สายนั้นแล้วด้วยเงินงามลูกบิดแล้วด้วยแก้วประพาฬ พลางขึ้นสายทั้ง 50 ให้ได้เสียงแล้วจึงดีดพิณให้เปล่งเสียงอันไพเราะ นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในการยังพิณให้เปล่งเสียงแล้ว  พระปัญจสิงขรยังคิดแต่งเพลงขับได้อย่างไพเราะไว้เป็น คีตูปสญหิโต ธมโม ธรรมประกอบคีตอีกด้วย บรมครูทางดนตรีไทยถึงได้ยกย่องบูชาพระปัยจรสิงขรว่า เป็นครูทางดนตรีไทยถึงได้ยกย่องบูชาพระปัญจรสิงขรว่าเป็นครูทางดนตรี (การเปล่งเสียงจากสาย) จึงได้บรรจุไว้ในโองการไหว้ครูดุริยดนตรีไทยว่า พระปัญจสิงขร พระกรเธอถือพิณดีดดังเสนาะสนั่น

     

     คนไทยได้เคยใช้พิณหรือซุงเป็นเครื่องบรรเลงมาแต่ครั้งโบราณ  จากหลักฐานภาพปูนปั้นประดับฐานเจดีย์ที่เมืองโบราณ บ้านคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นรูปนางทั้งห้า บรรเลงดุริยดนตรี  นางหนึ่งบรรเลงพิณเพียะ นางหนึ่งดีดพิณ 5 สาย นางหนึ่งตีกรับ นางหนึ่งตีฉิ่ง และอีกนางหนึ่งเป็นนักร้องขับลำนำ ภาพปูนปั้นดังกล่าวเป็นศิลปะสมัยทวารวดี   สันนิษฐานว่า คงปั้นขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16(สำเร็จ คำโมง.  2538 : 477) สันนิษฐานว่าพิณเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ  1,000 ปีมาแล้ว ซึ่งของเดิมมาจากจีนตอนใต้ โดยที่เราได้ดัดแปลงนำเข้าไปเล่นกับเครื่องดนตรีไทย เช่น ระนาด ฆ้องวง ซอ กลอง ฉิ่ง ฯลฯ เราเรียกวงนี้ว่า วงพิณพาด ต่อมาพิณได้หายไปจากวงพิณพาด ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏกลับมาใช้ปี่แทน เรียกวงพิณพาดใหม่ว่า วงปี่พาด (ประยุทธ  เหล็กกล้า.2512:44)

      สำหรับซุง หรือพิณของคนไทยภาคอีสานนั้น  น่าที่จะวิวัฒนาการขึ้นมาจากสะนุ (หรือธนู) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีสายขึงเป็นรูปคันธนูใช้ดีดเล่นหรือผูกหัวว่าวชักขึ้นไปในท้องฟ้า ให้ลมบนพัดแล้วเกิดเสียงส่วนที่เป็นเต้าเสียงนั้น น่าที่จะมาจาก  2 ทาง คือ จากกระบอกไม้ไผ่ เพราะยังมีพิณกระบอกไม้ไผ่ให้เด็กเล่นอยู่ในสังคมไทยภาคอีสาน และอีกทางหนึ่งมาจากพิณสายเครือหญ้านาง ซึ่งขุดหลุมลงไปในดินเป็นเต้าขยายเสียง และขึงสายเครือหญ้านางเป็นสายพิณพาดบนปากหลุมนั้น มัดหัวท้ายของสายเข้ากับหลัก 2 หลัก เวลาเล่นใช้ตีหรือดีดสายเกิดเสียง ดังตึงตึงคล้ายกลอง