Enrolment options
องค์ประกอบนาฏศิลป์
สอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
เนื้อหา
องค์ประกอบนาฏศิลป์ไทย
นาฏศิลป์ไทยเป็นศิลปะการแสดงที่มีความงดงาม อ่อนช้อย และเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยที่อยู่คู่ชาติไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการแสดงนาฏศิลป์ไทยแต่ละประเภทที่มีความงดงามนั้นจะต้องมีองค์ประกอบนาศิลป์ที่ช่วยให้การแสดงมีความงดงามและสมบูรณ์ ดังนี้
1. การฟ้อนรำหรือลีลาการใช้ท่ารำ
การแสดงนาฏศิลป์ไทยเป็นการแสดงที่มีการร่ายรำสวยงาม โดยการประดิษฐ์คิดค้นท่ารำต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบแบบแผน ให้เหมาะสมกับการแสดงเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว และสื่อความหมายในการแสดง เช่น ระบำพรหมาสตร์ เป็นการร่ายรำของเทวดา นางฟ้า ที่มีความหมายสวยงาม ดูมีความสุข
2. จังหวะที่ใช้ในการแสดง
จังหวะถือว่าเป็นพื้นฐานในการฝึกหัดการแสดงนาฏศิลป์ ผู้แสดงนาฏศิลป์ไทยจะต้องทำความเข้าใจกับจังหวะดนตรี เพื่อให้สามารถร่ายรำ แสดงท่าทางได้ถูกต้องตามจังหวะ หากแสดงไม่ถูกต้องตามจังหวะ หรือที่เรียกว่า บอดจังหวะ จะทำให้การแสดงไม่สวยงามและไม่พร้อมเพรียง
3. ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง
ในการแสดงนาฏศิลป์ไทย จะใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง บทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบกิริยาของตัวละครแบ่งออกเป็น หน้าพาทย์ธรรมดาและหน้าพาทย์ชั้นสูง ส่วนมากบรรเลงโดยไม่มีเนื้อร้อง การบรรเลงเพลงหน้าพาทย์จะบรรเลงตามความหมายและอารมณ์ของตัวละครที่แตกต่างกันไป
4. คำร้องหรือเนื้อร้อง
การแสดงนาฏศิลป์ไทยมีทั้งชุดการแสดงที่มีบทร้องและไม่มีบทร้องประกอบการแสดงซึ่งในการแสดงที่มีเนื้อร้อง
ประกอบการแสดงจะทำให้ผู้ชมเข้าใจการแสดงมากขึ้น และผู้คิดค้นประดิษฐ์ท่ารำให้เหมาะสมกับคำร้องเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจการแสดงมากขึ้น และผู้คิดค้นประดิษฐ์ท่ารำให้เหมาะสมกับคำร้องเพื่อให้ผู้แสดงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้ถูกต้องและมีความสวยงาม เช่น ระบำดาวดึงส์ เป็นการแสดงที่มีบทร้องประกอบ มีท่าร่ายรำที่สื่อความหมายตามบทร้อง ที่มีความยินดีปรีดา
5. การแต่งกาย การแต่งหน้า
การแต่งกายที่ใช้ในการแสดงนาฏศิลป์ไทยจะมีความสวยงามวิจิตรและบ่งบอกถึงความเป็นไทยทำให้การแสดงมีเอกลักษณ์
เช่น การแสดงโขนที่มีการแต่งกายที่งดงาม
มีศีรษะโขนที่ตกแต่งลวดลายประดิษฐ์ขึ้นอย่างวิจิตร ซึ่งศีรษะโขนก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของตัวละครทำให้ผู้ชมเข้าใจการแสดงได้มากขึ้น
การแต่งหน้าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผู้แสดงสวยงาม
และอำพรางข้อบกพร่องของใบหน้าของผู้แสดงได้
นอกจากนี้ก็ยังสามารถใช้วิธีการแต่งหน้าเพื่อบอกวัยบอกลักษณะเฉพาะของตัวละครได้
เช่น แต่งหน้าคนหนุ่มให้เป็นคนแก่แต่งหน้าให้ผู้แสดงเป็นตัวตลก เป็นต้น
6. อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดง
อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดงนาฏศิลป์ไทยเป็นองค์ประกอบนาฏศิลป์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การแสดงมีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ซึ่ง การแสดงนาฏศิลป์ไทยบางชุดอาจไม่มีอุปกรณ์ประกอบการแสดง แต่บางชุดก็มีอุปกรณ์ประกอบการแสดง ทำให้การแสดงน่าสนใจมากขึ้น เช่น ฟ้อนเทียนมีอุปกรณ์ คือ เทียน ซึ่งจะนิยมแสดงในเวลากลางคืน ทำให้การแสดงมีความงดงามมาก
หลักและวิธีการสร้างสรรค์การแสดงโดยใช้องค์ประกอบนาฏศิลป์
นอกจากการแสดงนาฏศิลป์ที่สวยงามจะต้องใช้องค์ประกอบนาฏศิลป์แล้ว ยังต้องมีหลักและวิธีการสร้างสรรค์การแสดง โดยใช้องค์ประกอบนาฏศิลป์ ดังนี้
1. การฟ้อนรำหรือลีลาการใช้ท่ารำ
การแสดงนาฏศิลป์ไทยที่มีการฟ้อนรำหรือใช้ท่ารำที่สวยงาม จะต้องใช้ภาษาท่าทางนาฏศิลป์และนาฏยศัพท์เข้า มาสร้างสรรค์ท่าทางในการร่ายรำ ให้มีความสมบูรณ์ สวยงามและเหมาะสมซึ่งภาษาท่าทางนาฏศิลป์และนาฏยศัพท์ที่สามารถนำมาสร้างสรรค์การแสดงได้ มีดังนี้
1.1 ภาษาท่าทางนาฏศิลป์
ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ คือ การใช้ลีลาท่ารำเพื่อสื่อความหมายแทนคำพูด กิริยา ท่าทางต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้รับรู้ เช่น ท่ารัก ท่าโกรธ ท่าดีใจ
1.2 นาฏยศัพท์
นาฏยศัพท์ คือ ศัพท์ที่ใช้เรียกท่าทางในการร่ายรำตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เช่น จีบ ส่ายมือ ยกเท้า
2. จังหวะที่ใช้ในการแสดง
จังหวะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ใช้ในการสร้างสรรค์การแสดง ในการแสดงนาฏศิลป์ไทยมีทั้งการแสดงที่มีจังหวะ ช้า เร็ว และปานกลาง ผู้แสดงต้องสามารถเข้าใจจังหวะ จับจังหวะในการแสดงได้ซึ่งจะทำให้การสร้างสรรค์การแสดงมีความหมายงาม พร้อมเพรียง เช่น ในการแสดงระบำหมู่ต่าง ๆ เมื่อผู้แสดงเข้าใจจังหวะก็จะสามารถสร้างสรรค์ให้พร้อมเพรียง สวยงามได้
3. ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง
การแสดงนาฏศิลป์ไทยมีความจำเป็นอบ่างยิ่งที่ต้องใช้เครื่องดนตรีมาบรรเลงประกอบการแสดงเพื่อให้การแสดงมีความน่าสนใจ สมบูรณ์มากขึ้น ในการแสดงนาฏศิลป์ไทยจะมีการบรรเลงบทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
3.1 เพลงหน้าพาทย์
เพลงหน้าพาทย์เป็นเพลงประเภทหนึ่งที่ใช้บรรเลงในการแสดงกิริยาของมนุษย์ สัตว์ วัตถุหรือธรรมชาติ เช่น ยืน เดิน กิน นอน เพลงหน้าพาทย์แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
เพลงหน้าพาทย์ธรรมดา ใช้กับตัวละครชั้นสามัญทั่วไปที่ไม่มีความสำคัญมากนัก เช่น เพลงเสมอ
เพลงหน้าพาทย์ชั้นกลาง ใช้กับตัวละครที่มีความสำคัญมากขึ้น เช่น เพลงเสมอข้ามสมุทร เพลงเสมอเถร
เพลงเสมอมาร
เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ใช้กับตัวละครที่สูงศักดิ์ เช่น เพลงบาทสกุณี (เสมอตีนนก) เพลงดำเนินพราหมณ์
3.2 เพลงที่มีเนื้อร้อง
เพลงที่มีเนื้อร้อง คือ เพลงที่มีคำประพันธ์บทร้อง มีการขับร้องเพลงประกอบการแสดงเป็นบทเพลงที่ช่วยสร้างสรรค์การแสดงให้น่าสนใจ
3.3 เพลงภูมิหลัง
เพลงภูมิหลัง คือ เพลงที่ให้อารมณ์และความรู้สึก ซึ่งอาจมีเนื้อร้องหรือไม่มีก็ได้ เป็นบทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงเพื่อสื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครให้ผู้ชมได้เข้าใจและคล้อยตามไปกับการแสดง เช่น การแสดงที่ถึงตอนพลัดพรากจากกัน มีการบรรเลงบทเพลงช้า เศร้าสื่อถึงความอาลัยอาวรณ์ เสียใจ ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามไปกับการแสดง
4. คำร้องหรือเนื้อร้อง
การสร้างสรรค์คำร้องหรือเนื้อร้องที่ใช้ในการแสดง ผู้ประพันธ์จะต้องสร้างสรรค์เนื้อร้องให้สอดคล้องกับการแสดง มีจินตนาการสร้างสรรค์ในการประพันธ์บทเพลง เพื่อที่จะแต่งบทเพลงได้ถูกต้องและสื่ออารมณ์ของการแสดงมาสู่ผู้ชมได้เข้าใจและซาบซึ้ง
5. การแต่งกาย การแต่งหน้า
ในการแสดงนาฏศิลป์จะต้องมีการสร้างสรรค์การแต่งกายให้มีความงดงามเหมาะสมกับผู้แสดง มีการประดับประดา ตกแต่งลวดลายของเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายให้มีความงดงามวิจิตรตระการตาเพราะการแต่งกายในการแสดงยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกยศฐานะบรรดาศักดิ์ของตัวละครด้วย เช่น การแสดงโขนเป็นหนุมานจะต้องแต่งกายชุดสีขาว มีลายปักทักษิณาวัตร (อ่านว่า ทัก-สิ-นา-วัด) สวมหัวลิงโล้นสีขาว ปากอ้า
การแต่งหน้าในการแสดงนาฏศิลป์จะต้องมีเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ผู้แสดงสวยงาม และอำพรางข้อบกพร่องของใบหน้าของผู้แสดงได้ นอกจากนี้ก็ยังสามารถใช้วิธีการแต่งหน้าเพื่อบอกวัยบอกลักษณะเฉพาะของตัวละครได้
6. อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดง
ในการแสดงนาฏศิลป์บ้างชุดการแสดงอาจมีอุปกรณ์ประกอบการแสดง เพื่อให้การแสดงมีความสมบูรณ์สวยงามมากขึ้น ซึ่งการสร้างสรรค์อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดงจะมีการออกแบบ ตกแต่งให้เหมาะสมกับชุดการแสดง เช่น การแสดงระบำตารีกีปัส มีการใช้พัดประกอบการแสดง ซึ่งมีการออกแบบพัดให้สวยงามเหมาะสมกับการแสดง