การคิด เป็นกระบวนการของสมองที่รับข้อมูลแล้วแปลความ ในขั้นนี้จะใช้ประสบการณ์เดิมเข้ามาตัดสิน ซึ่งสมองอาจยอมรับว่าถูกต้องหรืออาจไม่ยอมรับก็ได้ หากยอมรับสมองจะเก็บข้อมูลไว้ใช้ต่อไป แต่หากไม่ยอมรับสมองจะเลิกสนใจ ในขั้นที่สมองยอมรับหรือไม่ยอมรับนี้ เรียกว่า ความคิด เป็นขั้นสุดท้ายที่ผ่านกระบวนการตามขั้นตอนของการคิดที่สมองทำงาน การคิด จึงหมายถึง การทำงานตามกระบวนการของสมอง ส่วน ความคิด หมายถึง ขั้นสุดท้ายของการทำงานในกระบวนการนั้น องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความคิด คือ การรับรู้และเกิดจินตนาการเกี่ยวกับสถานที่ สิ่งของหรือสิ่งที่มีอยู่รอบตัว เป็นการรับรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร การรับรู้ดังกล่าวจะนำไปสู่การคิดในเรื่องเหล่านั้น นอกจากนี้ความรู้ที่ได้รับในชีวิตประจำวัน จะทำให้เกิดมโนทัศน์ การคิดในลักษณะนี้จะมีอยู่บนพื้นฐานของความรู้ที่ได้รับ
ภาษาเป็นสื่อของความคิดและความคิดที่มีคุณภาพย่อมเกิดจากการคิดที่เป็นกระบวนการ นั่นคือ ผู้คิดต้องมีทักษะการคิดหรือกระบวนการคิด ภาษาไทยเป็นวิชาทักษะที่ต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญในการใช้ การฟังและการอ่านเป็นทักษะการรับรู้เรื่องราว ความรู้และประสบการณ์ การฝึกทักษะการคิดให้แก่ผู้เรียนขณะฟัง อ่าน พูดและเขียน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้เรียนใช้ภาษาได้อย่างมีคุณภาพ (กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๖ : ๑๘๑) เช่น ความคิดกับภาพ ในขณะที่ตาเห็นหรือปะทะกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบข้าง เราจะบันทึกสิ่งเหล่านั้นเข้าสู่สภาวะของการรับรู้ทันที การรับรู้ทุกครั้งจะผ่านระบบการบันทึกโดยมีภาษาเป็นเครื่องมือ เช่น เมื่อเราเดินออกมานอกบ้านเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งวิ่งแยกเขี้ยว น้ำลายฟูมปาก เดินส่ายไปมาและตรงเข้ามาหาเรา การรับรู้จะบอกด้วยภาษาทันทีว่า
๑. สัตว์
๒. ดุร้าย
๓. ไว้ใจไม่ได้
๔. มันจะเข้ามากัด
๕. หมาบ้า
๖. ระวัง
คำว่า สัตว์ ดุร้าย ไว้ใจไม่ได้ มันจะเข้ามากัด หมาบ้า ระวัง เหล่านี้ล้วนเป็นภาษา เมื่อรวมเข้ากับประสบการณ์เดิมคือ รู้ว่ามันไว้ใจไม่ได้และจะกัด การตอบสนองก็เกิดขึ้นคือ ระวังหรือเตรียมสู้หรือวิ่งหนี ขณะเดียวกันเมื่อเรานำข้อสรุปที่ได้จากการคิดถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา การใช้ภาษาก็ต้องขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ที่แน่นอนว่า เราจะไปเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง เขาเป็นใคร เขาจะเข้าใจเหมือนเราหรือไม่ เราจะใช้คำอย่างไรที่จะทำให้ผู้รับสารหรือผู้ฟังเข้าใจสารหรือเกิดมโนภาพแบบเดียวกับของเรา นั่นก็คือทุกขั้นตอนของการใช้ภาษามนุษย์ต้องใช้ความคิดควบคุมไปด้วยตลอด ความคิดกับภาษาจึงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ผู้ที่มีความคิดดี ความคิดเป็นระบบ การใช้ภาษาก็จะดีด้วย และผู้ที่ใช้ภาษาได้ดีก็จะเป็นผู้ที่มีระบบคิดดีหรือเรียกว่ามีปฏิภาณไหวพริบรวดเร็วเฉลียวฉลาด (รังสรรค์ จันต๊ะ. ๒๕๔๑ : ๑๕-๑๖)